Popsyz ::: This Blog is Now Yesterday.

Move from MSN space, daily update nothing

The Arts of “The Hands” – ภาพศิลปะชื่อดังรูปมือ

หลายคนคงเคยเห็นภาพ มือที่อธิษฐานรูปนี้ อาจติดอยู่ในบ้านของท่าน แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเบื้องหลังของภาพนี้มันเป็นมาอย่างไร จะขอเล่าให้ฟัง

ย้อนกลับไปสู่ศตวรรษที่ 15 ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อว่า นิวเรมเบอร์ก มีครอบครัวหนึ่งที่มีลูกอยู่ทั้งหมด 18 คน

18! คน เอาเฉพาะที่คุณพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวจะต้องรับผิดชอบให้มีอาหารอยู่บนโต๊ะทุกมื้อเพียงพอสำหรับลูกทั้ง 18 คน แค่นี้ก็คงจะอ่วมอรทัยแล้ว เพราะคุณพ่อซึ่งเป็นช่างทองคนนี้ จะต้องทำงานค้าขายทองวันละเกือบ 18 ชั่วโมง อันนี้ยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เขาจะต้องจ่ายเพิ่มเติมอีก

ในสภาพที่สิ้นหวังเช่นนี้ Albrecht และ Albert Durer ลูกชายคนโต 2 คน ต่างใฝ่ฝันว่า เขาอยากจะเรียนด้านศิลปะตามที่ตนมีตะลัน แต่ทั้งสองก็ทราบดีว่า คุณพ่อไม่มีเงินพอส่งเขาไปนิวเรมเบอร์ก เพื่อจะไปเรียนที่สถาบันศิลปะได้

หลังจากพวกพี่น้องทั้งหมดนั่งล้อมวง ถกกันที่เตียงนอนว่าจะทำยังไงดี ลูกชาย 2 คนนี้ก็ทำสัญญาตกลงกันว่า เขาจะปั่นเหรียญเสี่ยงทายออกหัวก้อย คนที่ได้หัวจะไปเรียนศิลปะ ส่วนคนที่ได้ก้อยจะต้องไปทำงานในเหมืองแร่ใกล้ๆ บ้าน คนที่ได้ก้อยจะต้องเอาเงินรายได้มาช่วยสนับสนุนคนที่ได้ไปเรียน เมื่อเรียนจบครบ 4 ปีแล้ว คนที่เรียนจบจะต้องส่งน้องคนถัดมา ให้ไปเรียนในสถาบันโดยวิธีขายงานศิลปะ หรือไม่ก็เข้าไปทำงานในเหมืองแร่

เขาปั่นเหรียญตอนเช้าวันอาทิตย์ วันหนึ่งหลังจากกลับมาจากการไปนมัสการที่โบสถ์ Albrecht Durer ปั่นเหรียญได้หัว เขาจึงเป็นคนไปเรียนศิลปะที่นิวเรมเบอร์ก ส่วน Albert ลงไปทำงานในเหมืองแร่ที่มีอันตรายมาก เป็นเวลา 4 ปี ตลอดระยะเวลานั้น เขาส่งเสียให้พี่ชายของเขาไปเรียนที่สถาบันศิลปะ งานฝีมือของเขาออกมาดีเยี่ยม Albrecht แกะสลักไม้ ใช้สีน้ำมัน งานฝีมือของเขาโดดเด่น ก้าวไกลไปกว่าเพื่อนๆ และแม้แต่งานของบรรดาคณาจารย์ทั้งหลาย มาถึงเวลาที่เขาจบการศึกษาและรับประกาศนีบัตร เขาได้รับเงินพิเศษจำนวนไม่น้อย

เมื่อหนุ่มน้อยช่างศิลปะ เดินทางกลับมายังหมู่บ้านของเขา ครอบครัวดิวเออร์ ก็จัดงานเลี้ยงฉลองที่สนามหญ้าหน้าบ้าน ต้อนรับลูกชายผู้สำเร็จการศึกษาในคืนสู่เหย้า หลังจากครอบครัวรับประทานอาหารอย่างอิ่มหนำสำราญ ภายใต้บรรยากาศเสียงดนตรีไพเราะ และเสียงหัวเราะยิ้มแย้มแจ่มใส Albrecht ลุกขึ้นยืนที่หัวโต๊ะอาหาร ชูแก้วขึ้นมาบอกว่า ขอให้เราดื่มเพื่อน้องชาย ผู้เสียสละทำงานเพื่อส่งเสียเขา และช่วยให้เขาได้เรียนจนประสบความสำเร็จตามที่เขาได้ใฝ่ฝัน คำพูดตอนท้ายของเขาคือ “และบัดนี้ Albert น้องชายที่รักของพี่ เดี๋ยวนี้ถึงตาขอน้องแล้ว ถึงเวลาที่น้องจะไปเรียนในสถาบันศิลปะ พี่จะส่งเสียสนับสนุนน้องเอง”

ทุกๆ คนที่โต๊ะอาหารต่างหันหน้าไปทางท้ายโต๊ะ ที่ Albert นั่งอยู่ น้ำตาไหลลงอาบแก้มซีดๆ ทั้งสองข้างของเขา สั่นศรีษะ สะอึกสะอื้นระล่ำระลักออกมาว่า “ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ล่ะครับ”

ในที่สุด Albert ก็ลุกขึ้นยืน เช็ดน้ำตาที่แก้มทั้งสองข้าง เดินไปยังพี่ชายที่รักศึ่งนั่งอยู่ที่หัวโต๊ะ จับแขนของพี่ทั้ง 2 ข้าง และเข้าไปกระซิบที่หูของพี่ชายเบาๆ “พี่ครับ ไม่ล่ะครับ ผมไปเรียนที่นอเรมเบิร์กไม่ได้ มันสายไปเสียแล้วสำหรับผม มองดูสิ สี่ปีในเหมืองแร่ มันทำให้มือทั้ง 2 ข้างของผมเป็นยังไง! กระดูกนิ้วมือของผมแตกเป็นเสี่ยงๆ ทุกข้อนิ้ว และไม่นานมานี้ ผมเจ็บหนักเพราะมือข้างขวาของผมเป็นโรคข้อต่ออักเสบ ผมไม่อาจแม้แต่หยิบถ้วยแก้วขึ้นมา ไม่สามารถหยิบปากกามาขีดเส้นหรือใช้พู่กันระบายสีรูป ไม่ล่ะครับพี่ สำหรับผม มันสายไปเสียแล้ว

วันหนึ่ง เพื่อเป็นการแสดงความคาราวะต่อ Albert น้องชาย ผู้ซึ่งได้เสียสละ ทนทุกข์แสนสาหัสเพื่อเขา Albrecht Durer ได้วาดภาพมือที่มิอาจใช้งานได้อีกต่อไปของน้องชาย ที่ประนมขึ้นไหว้ด้วยนิ้วที่ผอมบางทั้งสองข้าง ท่านตั้งชื่อภาพที่ท่านวาดภาพนี้ง่ายๆ ว่า “มือ” แต่คนทั้งโลกต่างพากันเปิดจิตใจออกต่องานเอกชิ้นนี้ของท่าน และตั้งชื่อภาพนี้เสียใหม่ด้วยความรักว่า “มือแห่งการอธิษฐาน” (Praying Hands)

ผ่านไป 450 ปี บัดนี้งานศิลปะของ Albrecht Durer นับร้อยๆ ชิ้นไม่ว่าภาพคนเหมือน ภาพเขียนด้วยปากกา ภาพเสก็ตด้วยสีเงิน สีน้ำ สีถ่าน งานแกะสลักไม้ ทองแดง ถูกนำมาแขวนไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงยิ่งใหญ่ทุกแห่งในโลก แต่ที่แปลกยิ่งกว่านั้น คือ อย่างที่ท่านก็เป็นคนหนึ่ง ในบรรดาคนทั้งหลายนั่นแหละครับ คือ ท่านคุ้นเคยกับงานเพียงชิ้นหนึ่ง หรืองานชิ้นเดียวเท่านั้นของเขาก็ว่าได้ ที่ถูกนำมาเป็นแบบผลิตซ้ำและแขวนไว้ในบ้านของท่าน ในที่ทำงานของท่าน

คราวหน้าเวลาท่านเห็นงานสร้างสรรค์เลอเลิศชิ้นใดก็ตาม ที่สัมผัสใจของท่าน ขอให้ท่านได้พินิจงานชิ้นนั้นใหม่อีกที ย้อนคิดสักนิดว่า อย่างน้อยต้องมีใครอีกสักคนหึ่ง ใครอีกสักคนหนึ่ง อยู่เบื้องหลังงานชิ้นนั้น เพราะไม่มีงานยอดเยี่ยมชิ้นใดที่เกิดขึ้นมาโดยคนคนเดียว

บทความจากสูจิบัตรวันอาทิตย์ที่ Feb 26, 2012
คริสตจักรสามัคคีธรรมกรุงเทพ – จาก มาดามคาร่า
http://www.moytura.com/reflections/prayinghands.htm

Leave a comment »

Katherine Lawes & the Sing Sing Prisoners – ราชินีแห่งเรือนจำ

คาเธอรีน ลอเวส (Katherine Stanley) สตรีผู้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลง คุกโหดที่สุด ให้กลายเป็นคุกที่เปี่ยมด้วยความรักอย่างน่าประหลาด

ปี 1921 ลิวอีส ลอเวส ได้เข้ามารับงานเป็นพัศดีเรือนจำ ดูแลนักโทษ ที่เรือนจำซิงซิง คุกอันเป็นที่รู้กันดีว่า มีนักโทษจำขังคดีอุกอาจ โหดร้ายที่สุดในสหรัฐอเมริกา คุกนี้อยู่ในนิวยอร์ก เป็นคุกที่สร้างความหนักใจให้ผู้คุมทุกคน ลิวอิส มาทำงานที่นี่ 20 ปี ก่อนที่ท่านจะปลดเกษียณ และได้ทำให้คุกซิงซิงแห่งนี้ กลายเป็นคุกที่มีเสียงเพลง มีน้ำใจ กลับกลายเป็นคุกตัวอย่างของสหรัฐ

ลิวอิสเล่าว่า เบื้องหลังของความสำเร็จของเขาอยู่ที่ แคทเธอรีน ลอเวส ภรรยาของท่าน “ผมเป็นหนี้บุญคุณภรรยาแสนประเสริฐของผม แคทเธอรีน ที่วันนี้ หลุมศพของเธอฝังอยู่นอกกำแพงคุก”

แคทเธอรีน เป็นภรรยาสาวที่มีลูกเล็กๆ 3 คน เมื่อตอนที่สามีของเธอเข้ามารับงานเป็นพัศดีเรือนจำซิงซิง ใครต่อใครต่างเตือนเธอว่า อย่าได้ย่างกรายเข้าในบริเวณเรือนจำ หรืออย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับนักโทษในคุกแห่งนี้โดยเด็ดขาด แต่คำห้ามปรามนี้ ไม่อาจหยุดยั้งเธอได้

แคทเธอรีน มีความเชื่ออย่างจริงจังว่า นักโทษทุกคนเป็นคนที่มีคุณค่า เราควรให้ความสนใจและให้เกียรติเขา เธอเข้าไปเยี่ยมนักโทษในเรือนจำซิงซิงบ่อยๆ เธอหนุนใจนักโทษ เธอรับงานที่นักโทษขอร้องมาทำ และใช้เวลาฟังพวกเขา สิ่งสำคัญที่สุดคือ เธอเอาใจใส่พวกเขา และผลที่ตามมาคือ พวกเขาก็ห่วงใยเธอ เธอพาพวกลูกๆ ของเธอเข้าไปร่วมงาน เวลานักโทษจัดการแข่งขันกีฬา หรือจัดกิจกรรมพิเศษ

คราวที่มีการจัดแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลครั้งแรก เธอขออนุญาตสามีเข้าไปร่วมงานด้วย เธอเดินเข้าไปในสนามแข่งขันพร้อมกับลูกๆ 3 คน นั่งคู่กับนักโทษ คนที่เป็นฆาตกรคดีโหดที่สุด ภายหลังแขกที่มาในงานนั้นถามเธอว่า “ทำไมคุณกล้าเข้าไปนั่งกับคนพวกนี้ตรงนั้น แล้วเธอยังนำพวกลูกๆ เข้าอยู่ที่นั่นได้อย่างไร” เธอตอบว่า “สามีและฉัน เอาใจใส่ดูแลพวกเขา ฉันก็เชื่อว่าพวกเขาจะดูแลฉันด้วย ไม่ต้องกังวลใจหรอก”

แคทเธอรีนสนใจในข้อมูลของพวกเขา ครั้งหนึ่ง เธอทราบว่า ผู้ต้องหาฆาตกรคนหนึ่งตาบอด เธอจึงขอเข้าไปเยี่ยมเขา เธอเข้าไปในห้องขังที่เย็นเยือก นั่งอยู่กับเขา จับมือของเขามาอยู่ใน 2 ข้างอันอบอุ่นของเธอ

“คุณอ่านภาษาเบลล์ออกมั๊ย?” เธอถาม
“เบลล์คืออะไร” นักโทษผู้นั้นถามกลับด้วยความอยากรู้
“คุณไม่รู้หรือ เบลล์เป็นภาษาที่คนตาบอดสามารถอ่านหนังสือได้ด้วยการอาศัยนิ้วมือ” เธออธิบาย
“เออ ผมไม่เคยรู้” เขาตอบ
“ฉันจะสอนคุณ” เธอให้คำมั่นสัญญา

จากวันนั้น เธอก็สอนผู้ต้องหาฆาตกรตาบอด ให้อ่านหนังสือด้วยภาษาเบลล์ ไม่กี่ปีจากวันนั้น นักโทษผู้นี้ร้องไห้เพราะความรักของเธอที่มีให้เขา

ต่อมา แคทเธอรีนก็พบว่ามีนักโทษคนนึงเป็นใบ้ เธอไปเรียนภาษาใบ้ที่โรงเรียน และกลับมาสอนพวกเขา ไม่นานนักเธอก็สามารถสื่อสารกับเขาโดยใช้ภาษามือ หลายคนพูดว่า “แคทเธอรีน เป็นพระกายของพระคริสต์ ที่มีชีวิตอยู่ในคุกซิงซิง ตั้งแต่ปี 1921 ถึงปี 1937

คืนวันหนึ่งในปี 1937 เธอประสบอุบัติเหตุขณะขับรถยนต์ เสียชีีวิตวันรุ่งขึ้น สามีของเธอมิได้มาทำงาน ข่าวนี้แพร่สะพัดไปทั่วคุก นักโทษทุกคนพากันร้องไห้ นักโทษหฤโหดคนหนึ่งร้องไห้โฮ ระล่ำระลักออกมาว่า “นายหญิงของเราตายเสียแล้ว เมื่อคืนนี้”

วันต่อมา เขาจัดงานศพของเธอที่บ้าน ห่างจากคุกประมาณ 2 กิโลเมตร ในตอนเช้า ผู้ช่วยพัสดี ตกตลึงที่เห็นกลุ่มคนหมู่ใหญ่ จับกลุ่มกันร้องไห้ที่สนาม พวกเขาอยากขออนุญาตไปร่วมงานศพ และกลับมาที่คุกเมื่อเสร็จงาน ในนั้นมีทั้งอดีตผู้ร้ายฆ่าคน ผู้ก่อการร้าย ปล้นทรัพย์ เขาเดินเข้าไปท่ามกลางพวกเขา แทนที่จะเห็นความโหดร้าย เขากลับเห็นน้ำตา และความโศกเศร้า เขารู้ดีว่า พวกเขารัก และชื่นชมในตัวเธอแค่ไหน

ด้วยความเข้าใจในความรู้สสึกของพวกเขา ผู้ช่วยพัศดีอนุญาต “โอเค ผมจะให้พวกคุณออกไป ขอให้กลับมาในคืนนี้” ประตูคุกเปิดออก นักโทษร้อยกว่าคนพากันเดินออกไป เข้าไปเคารพ และยืนไว้อาลัยศพของเธอ คืนนั้น พวกเขากลับมาที่เรือนจำ ไม่ขาดไปแม้แต่คนเดียว!!!

ชีวิตของคนคนเดียว เมื่อมีพระคริสต์สถิตอยู่ด้วย สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้มากถึงเพียงนี้ Robert Shuler กล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครที่ยากเกินไปที่พระเจ้าจะเปลี่ียนแปลงได้ ถ้าเรามีความเชื่อ” ภรรยาของพัศดีมีความเชื่อ และมีความกล้าหาญเข้าไปนั่งอยู่ท่ามกลางนักโทษ เราจะมีความเชื่อ เพื่อจะเข้าไปช่วยเหลือคนอื่นไหม???

บทความจากสูจิบัตรวันอาทิตย์ที่ Feb 19, 2012
คริสตจักรสามัคคีธรรมกรุงเทพ – อ.สมเกียรติ กิตติพงษ์

Leave a comment »